Tuesday, September 16, 2008

Tipitaka Recitation at Nittaiji Japan


พิธีสมโภชและสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล
จัดเป็นครั้งแรก ณ พุทธสถานที่ชาวญี่ปุ่นสร้างเฉลิมพระเกียรติ ร. ๕




วันนี้ (๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑) เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จโดยรถไฟจากนครโอซาก้าไปเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงเป็นประธานการสมโภชและสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล พุทธสถานนิทไทยจิแห่งนี้ ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว

ในปีนี้ชาวญี่ปุ่นได้ร่วมกันจัดงานสมโภชพระไตรปิฎกสากล (Celebration & Recitation of the World Tipiṭaka) ณ พุทธสถานนิทไทยจิ เพื่อแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เสด็จจาริกมาพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ไม่น้อยกว่า ๓๐ สถาบัน ในประเทศญี่ปุ่น


The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008

ในพิธีสมโภช ได้มีการประดิษฐานพระไตรปิฎกสากล ณ เบื้องหน้าพระพุทธศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้พระราชทานสำหรับประดิษฐาน ณ วิหารแห่งนี้ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมอ่านออกเสียงสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ร่วมกับชาวไทยและชาวญี่ปุ่น การถวายเสียงสังวัธยายพระไตรปิฎกเป็นการปฏิบัติบูชาอันมีอานิสงส์อันลำ้เลิศ

พระพุทธพจน์ที่สังวัธยาย เริ่มต้นด้วยพระไตรปิฎกปาฬิ (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎกปาฬิ) ในพระไตรปิฎกอักษรโรมัน จากนั้นเป็นภาคแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย โดยคัดจาก “มงคลสูตร” ว่า ...การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาผู้ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันสูงสุด...” ในตอนจบมีการกล่าวอุทิศอานิสงส์การสังวัธยายพระไตรปิฎกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ และเพื่อความรุ่งเรื่องของประชาชนชาวญี่ปุ่น

การสังวัธยายพระไตรปิฎกโดยการออกเสียงปาฬิ และภาคแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาในด้านปัญญาบารมี เพราะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและศรัทธา คือต้องมีสติและความเข้าใจในอ่านออกเสียงคำสอนที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก การสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวญี่ปุ่นเป็นการจัดสังวัธยายพระไตรปิฎกระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกสำหรับประชาชนทั่วไปและจัดเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ในอดีตมีการสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลสำหรับพระสงฆ์นานาชาติ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลและภาคแปลภาษาไทย ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา


Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008

เนื่องจากในศตวรรษที่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นร่วมใจกันสร้างพุทธสถาน “นิทไทยจิ” นี้ขึ้น ปัจจุบันเรียกกันว่า “วัดญี่ปุ่น-ไทย” ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองนาโกย่า อันเป็นเมืองธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศญี่ปุ่นและเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีชื่อเสียงด้วย


การสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ทั้งภาคปาฬิและภาคแปลเป็นภาษาไทยและญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมแห่งสันติและภูมิปัญญาระดับสูง นอกจากเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไป ทุกชาติทุกภาษา สามารถศึกษาพระไตรปิฎกปาฬิ และอ่านออกเสียงสังวัธยายปาฬิร่วมกันได้ อันเป็นวิธีทางแห่งกุศลและประโยชน์ที่จะรักษามรดกทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาตินี้ให้ยั่งยืนตลอดไป

งานสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินการโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์