Tuesday, September 16, 2008

Tipitaka Lecture at Tokyo University, Japan


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
และ
เจ้าชายอากิชิโนะโนะมิย่าแห่งประเทศญี่ปุ่น
ทรงเป็นประธานในงานปาฐกถา "เทคโนโลยีเผยแผ่พระไตรปิฎก"
ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น





วันนี้ (๑๓ กันยายน ๒๕๕๑) เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงห้องประชุมคณะเกษตรศาสตร์และชีววิทยา มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อทรงเป็นประธานร่วมกับเจ้าชายอะกิชิโน๊ะแห่งญี่ปุ่น ในการแสดงปาฐกถาพระไตรปิฎก (Tipiṭaka & Web-based Technology) มีผู้ร่วมเข้าฟังประมาณ ๒๐๐ คน

เมื่อศตวรรษที่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระไตรปิฎกปาฬิ (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎก) อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม แก่สถาบันต่างๆ ทั่วโลก และมีสถาบันในญี่ปุ่น 30 สถาบัน รวมทั้งมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา เพราะเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ เป็นชุดหนังสือเป็นครั้งแรกของโลก พระไตรปิฎกอักษรสยามชุดประวัติศาสตร์นี้ได้มีการค้นพบเร็วๆนี้ว่าได้รับการรักษาเป็นอย่างดีในญี่ปุ่น

ในปัจจุบันได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิเป็นอักษรโรมัน เพื่อเผยแผ่ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยได้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดพิมพ์และสร้างเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎก ฉบับสากลชุดสมบูรณ์เป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงเป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่น


Highlight Preparation of Tokyo Tipitaka Lecture 200Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008
Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008
Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008
Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008Tipitaka Technology Lecture at University of Tokyo 2008


ปาฐกถาพระไตรปิฎกแสดงโดยศาสตราจารย์โตอิชิ เอนโดะ ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกปาฬิแห่งมหาวิทยาลัยกัลยาณี กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ในนามสภาพระไตรปิฎกสากลของประเทศไทย ศรีลังกา และญี่ปุ่น ซึ่งได้กล่าวถึงเอกลักษณ์จากอดีตมาถึงปัจจุบันในการสืบทอดเสียงปาฬิ อันเป็นภาษาธัมม์เก่าแก่ในอารยธรรมอินเดีย และได้เดินทางผ่านจีนมาสู่ญี่ปุ่น ใช้เวลากว่า ๒,๕๐๐ ปี

นอกจากนี้จะได้กล่าวถึงเทคโนโลยีต่างๆ ในอดีตถึงปัจจุบันที่มวลมนุษยชาติได้นำมาอนุรักษ์และสืบทอดพระไตรปิฎกปาฬิ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเปิดรหัสต้นฉบับ (Open-source Technology) ซึ่งชาวไทยได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในการจัดสร้างฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานเปิด (Open Standard) ที่ประชาชนทั่วโลกสามารถเชื่องโยงใช้ได้ เทคโนโลยีมาตรฐานเปิดเหล่านี้ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการสร้างระบบบริการทางอิเล็คทรอนิกส์ที่ทันสมัย (Tipiṭaka Quotation WebService) ซึ่งทำให้นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ทั่วโลกมีส่วนร่วมศึกษาและพัฒนาได้

ในอดีตพระไตรปิฎกปาฬิ มักเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพียงอย่างเดียว แต่ปาฐกถาครั้งนี้เป็นการแสดงความสำคัญของพระไตรปิฎกสากลในมิติวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างการบรรยายจะได้มีการนำเสนอภาพจดหมายเหตุพระไตรปิฎกด้วยระบบสื่อผสมเทคโนโลยีด้วย


Highlight Preparation of Tokyo Tipitaka Lecture 200 World Tipitaka in Japan 2008 ็Highlight Preparation of Tokyo Tipitaka Lecture 200 ็Highlight Preparation of Tokyo Tipitaka Lecture 200


มหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในระดับนานาชาติ การเสด็จทรงเป็นประธานการปาฐกถาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และเจ้าชายอากิชิโน๊ะ ซึ่งทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยนี้ ย่อมเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ “ฐานปัญญา” (Knowledgebase) ในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในทางด้านสหวิชาการ

ปาฐกถาเทคโนโลยีพระไตรปิฎกเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่มหาวิทยาลัยโตเกียว ตามรอยการพระราชทานพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อศตวรรษที่แล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินการโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

Tipitaka Recitation at Nittaiji Japan


พิธีสมโภชและสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล
จัดเป็นครั้งแรก ณ พุทธสถานที่ชาวญี่ปุ่นสร้างเฉลิมพระเกียรติ ร. ๕




วันนี้ (๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑) เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จโดยรถไฟจากนครโอซาก้าไปเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงเป็นประธานการสมโภชและสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล พุทธสถานนิทไทยจิแห่งนี้ ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว

ในปีนี้ชาวญี่ปุ่นได้ร่วมกันจัดงานสมโภชพระไตรปิฎกสากล (Celebration & Recitation of the World Tipiṭaka) ณ พุทธสถานนิทไทยจิ เพื่อแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เสด็จจาริกมาพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเป็นการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ไม่น้อยกว่า ๓๐ สถาบัน ในประเทศญี่ปุ่น


The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008

ในพิธีสมโภช ได้มีการประดิษฐานพระไตรปิฎกสากล ณ เบื้องหน้าพระพุทธศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้พระราชทานสำหรับประดิษฐาน ณ วิหารแห่งนี้ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมอ่านออกเสียงสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ร่วมกับชาวไทยและชาวญี่ปุ่น การถวายเสียงสังวัธยายพระไตรปิฎกเป็นการปฏิบัติบูชาอันมีอานิสงส์อันลำ้เลิศ

พระพุทธพจน์ที่สังวัธยาย เริ่มต้นด้วยพระไตรปิฎกปาฬิ (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎกปาฬิ) ในพระไตรปิฎกอักษรโรมัน จากนั้นเป็นภาคแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย โดยคัดจาก “มงคลสูตร” ว่า ...การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาผู้ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันสูงสุด...” ในตอนจบมีการกล่าวอุทิศอานิสงส์การสังวัธยายพระไตรปิฎกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ และเพื่อความรุ่งเรื่องของประชาชนชาวญี่ปุ่น

การสังวัธยายพระไตรปิฎกโดยการออกเสียงปาฬิ และภาคแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาในด้านปัญญาบารมี เพราะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและศรัทธา คือต้องมีสติและความเข้าใจในอ่านออกเสียงคำสอนที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก การสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวญี่ปุ่นเป็นการจัดสังวัธยายพระไตรปิฎกระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกสำหรับประชาชนทั่วไปและจัดเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ในอดีตมีการสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลสำหรับพระสงฆ์นานาชาติ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลและภาคแปลภาษาไทย ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา


Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008 Highlight of Tipitaka Recitation Nittaiji 2008

เนื่องจากในศตวรรษที่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นร่วมใจกันสร้างพุทธสถาน “นิทไทยจิ” นี้ขึ้น ปัจจุบันเรียกกันว่า “วัดญี่ปุ่น-ไทย” ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองนาโกย่า อันเป็นเมืองธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศญี่ปุ่นและเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีชื่อเสียงด้วย


การสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ทั้งภาคปาฬิและภาคแปลเป็นภาษาไทยและญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมแห่งสันติและภูมิปัญญาระดับสูง นอกจากเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไป ทุกชาติทุกภาษา สามารถศึกษาพระไตรปิฎกปาฬิ และอ่านออกเสียงสังวัธยายปาฬิร่วมกันได้ อันเป็นวิธีทางแห่งกุศลและประโยชน์ที่จะรักษามรดกทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาตินี้ให้ยั่งยืนตลอดไป

งานสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินการโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

Tipitaka Presentation to Japan


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่สถาบันต่างๆ
ณ พุทธสถานเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น





วันนี้ (๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑) ณ กรุงโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึง ณ พุทธสถานชิเตนโนจิ เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่ ๑๔ สถาบันสำคัญในประเทศญี่ปุ่น (The Presentation of the 40-volume World Tipiṭaka Edition in Roman Script) พุทธสถานชิเตนโนจิเป็นสถาบันในพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีอายุ ๑,๔๐๐ ปี ฑิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากลจัดโดยสมาคมพุทธศาสนาเถรวาทแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ

การพระราชทานพระไตรปิฎกสากลในนานาประเทศดำเนินตามพระราชศรัทธาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาชราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล ซึ่งโปรดให้พระราชทานแก่สถาบันสำคัญในนานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญกุศลในทางปัญญาบารมีและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระดับภูมิปัญญาระดับสูงกับนานาประเทศทั่วโลก การเสด็จจาริกสู่ญี่ปุ่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ในปีนี้ เป็นการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่สถาบันสำคัญซึ่งจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก



The World Tipitaka in Japan 2008Japan Tipitaka Presentation 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008
The World Tipitaka in Japan 2008The World Tipitaka in Japan 2008


พระไตรปิฎกสากล เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันทึกเป็นภาษาพระธัมม์ที่เรียกว่า “ปาฬิ” และพิมพ์เป็นอักษรโรมัน (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎกปาฬิ) ซึ่งจัดพิมพ์ตามต้นฉบับการสังคายนาสากล พ.ศ.๒๕๐๐ สำเร็จเป็นชุด ๔๐ เล่ม เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘


เมื่อเสด็จถึงพุทธสถานชิเตนโนจิ ผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกชาวญี่ปุ่นนำเสด็จไปที่ตำหนักในสวนพฤกษชาติญี่ปุ่นที่งดงามสร้างโดยเจ้าชายโชโตกุ ผู้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในดินแดนญี่ปุ่นเมื่อ ๑,๔๐๐ ปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้แทนสถาบันต่างๆ ที่ขอพระราชทานพระไตรปิฎกสากลเข้าเฝ้าฯ หลังจากนั้นทรงฉายพระรูปกับผู้แทนสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ของผู้นำทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น

จากนั้นผู้จัดงานอัญเชิญเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เสด็จเข้าห้องพิธี นำโดยนักดนตรีในราชสำนักชิเตนโนจิ โดยอัญเชิญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ นำขบวนเสด็จ เมื่อเสด็จถึงมีการบรรเลงเพลงชาติไทย และเพลงชาติญี่ปุ่น หลังจากนั้น Eizan ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่ที่สุดที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามในอดีจ เป็นผู้แทนมหาสมาคมกล่าวถวายการต้อนรับ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงมีพระดำรัสพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ความโดยย่อว่า “การพระราชทานพระไตรปิฎกสากล เป็นการเผยแผ่คลังอารยธรรมทางปัญญา เพื่อสันติสุขของมนุษยชาติ ซึ่งสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฯ ได้พระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕” จากนั้นพระราชทานพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ (คัมภีร์พระธัมมสังคณี คือ คัมภีร์ที่สรุปหมวดพระธัมม์ทั้งหมดในพระไตรปิฎก) แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้อำนวยการสถาบันทั้งหลายที่ได้ขอพระราชทานมา

ในการนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานจัดงาน เป็นผู้อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เพื่อพระราชทานแก่สถาบันต่างๆ พิธีนี้จัดขึ้นในวิหารศักดิ์สิทธิ์เบื้องหน้าแท่นบูชาที่สืบทอดวัฒนธรรมพุทธศาสนาญี่ปุ่นมานับพันปี


Shitennoji Temple & Garden Osaka 2008 Shitennoji Temple & Garden Osaka 2008 Shitennoji Temple & Garden Osaka 2008 Shitennoji Temple & Garden Osaka 2008


ชิเตนโนจิเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาแก่าแก่ของชาติญี่ปุ่น และเป็นต้นกำเนิดของดนตรีและการฟ้อนรำในราชสำนักโบราณที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในพิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากลครั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นได้จัดนักดนตรีชิเตนโนจิบรรเลงเพลงในราชสำนักเป็นพิเศษด้วย พุทธสถานชิเตนโนจิ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโอซาก้า เมืองศูนย์กลางธุรกิจของญี่ปุ่น


พิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนชาวญี่ปุ่น โดยจัดในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีการจัดงานมาก่อน ทั้งนี้เพื่อร่วมกับประชาชนชาวไทยจัดงานพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อันเป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติ

งานพระราชทานพระไตรปิฎกสากล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินการโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

Thursday, September 11, 2008

Tipitaka Recitation at RTAF


พิธีสังวัธยายพระไตรปิฎก
และอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลเพื่อพระราชทานแก่ประเทศญี่ปุ่น


IMG_0058.JPGIMG_0033.JPG
IMG_0042.JPGIMG_0070.JPG
IMG_0046.JPGIMG_0069.JPG

ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ
อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลชุดพระราชทานสู่ประเทศญี่ปุ่น
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


วันนี้ (8 กันยายน พ.ศ. 2551) เวลา 08.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และประธานการจัดงานพระราชทานพระไตรปิฎก เป็นผู้นำอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล 14 ชุดๆ ละ 40 เล่มขึ้นเครื่องบินเที่ยวพิเศษของกองทัพอากาศ เพื่อเดินทางไปในงานพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่น

พระไตรปิฎกสากล จัดพิมพ์โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังปริณายก เป็นโครงการเผยแผ่พระไตรปิฎก ที่จัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมันฉบับสมบูรณ์ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไปทั่วโลก รวมในประเทศญี่ปุ่น 30 สถาบัน


ในปีนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานพระไตรปิฎก สากลในนานาประเทศ นับเป็นพระกรณียกิจด้านพระไตรปิฎกสากลชิ้นสุดท้ายก่อนเสด็จสู่สวรรคาลัย

สมาคมพุทธศาสนาเถรวาทแห่งญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการขอพระราชทานพระไตรปิฎกสากลจากประเทศไทยในปีนี้ โดยดำเนินการรวบรวมสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่เคยได้รับพระราชทาน พระไตรปิฎกปาฬิ อักษรสยาม (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎกปาฬิ) ในสมัย ร.5 และสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติในญี่ปุ่น รวม 14 สถาบัน เช่น ห้องสมุดรัฐสภาไดเอท มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยโอซาก้า และมหาวิทยาลัยชิเตนโนจิ โดยเฉพาะซิเตนโนจิเป็นสถาบันพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีอายุกว่า 1,400 ปี

IMG_0030.JPGIMG_0095.JPG
IMG_0101.JPGIMG_0094.JPG
IMG_0099.JPGIMG_0108.JPG

ก่อนการอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลขึ้นเครื่องบินกองทัพอากาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรทิพย์ พุกผาสุข นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานการจัดสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำกล่าวสังวัธยายพระไตรปิฎก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล มีคุณหญิงแสงเดือน ณ นคร และคณะกรรมการโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกและข้าราชการกองทัพอากาศและประชาชนเข้าร่วมในพิธีประมาณ 1,000 คน

ในสมัยรัชการที่ 5 ได้โปรดให้อัญเชิญพระไตรปิฎกไปพระราชทานทั่วโลกโดยทางเรือ ดังนั้นการอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลครั้งนี้ จึงเป็นการพระราชทานจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยทางอากาศยานเป็นครั้งแรก และเป็นการตามรอยการเสด็จจาริกส่วนพระองค์ของสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกเป็นปฐมฤกษ์แก่ประเทศศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2548


IMG_0026.JPGIMG_0116.JPG
IMG_0128.JPGIMG_0122.JPG
IMG_0133.JPGIMG_0121.JPG
IMG_0130.JPGIMG_0135.JPG

พิธีอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลเป็นงานสำคัญของกองทัพไทยในการเผยแผ่คลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติ และเป็นยุทธศาสตร์แห่งภูมิปัญญาสันติสุขในการเสริมสร้างความมั่นคงทั้งในชาติและนานาชาติระหว่างมิตรประเทศของไทย โดยตามรอยการพระราชทานพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งกองทัพอากาศได้เตรียมงานนี้มาเป็นเวลากว่า 8 เดือน