สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่สถาบันต่างๆ
ณ พุทธสถานเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น
การพระราชทานพระไตรปิฎกสากลในนานาประเทศดำเนินตามพระราชศรัทธาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาชราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล ซึ่งโปรดให้พระราชทานแก่สถาบันสำคัญในนานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญกุศลในทางปัญญาบารมีและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระดับภูมิปัญญาระดับสูงกับนานาประเทศทั่วโลก การเสด็จจาริกสู่ญี่ปุ่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ในปีนี้ เป็นการพระราชทานพระไตรปิฎกสากลแก่สถาบันสำคัญซึ่งจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
พระไตรปิฎกสากล เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันทึกเป็นภาษาพระธัมม์ที่เรียกว่า “ปาฬิ” และพิมพ์เป็นอักษรโรมัน (ปาฬิ เขียนตามเสียงที่บันทึกในพระไตรปิฎกปาฬิ) ซึ่งจัดพิมพ์ตามต้นฉบับการสังคายนาสากล พ.ศ.๒๕๐๐ สำเร็จเป็นชุด ๔๐ เล่ม เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘
เมื่อเสด็จถึงพุทธสถานชิเตนโนจิ ผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎกชาวญี่ปุ่นนำเสด็จไปที่ตำหนักในสวนพฤกษชาติญี่ปุ่นที่งดงามสร้างโดยเจ้าชายโชโตกุ ผู้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในดินแดนญี่ปุ่นเมื่อ ๑,๔๐๐ ปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้แทนสถาบันต่างๆ ที่ขอพระราชทานพระไตรปิฎกสากลเข้าเฝ้าฯ หลังจากนั้นทรงฉายพระรูปกับผู้แทนสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ของผู้นำทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
จากนั้นผู้จัดงานอัญเชิญเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เสด็จเข้าห้องพิธี นำโดยนักดนตรีในราชสำนักชิเตนโนจิ โดยอัญเชิญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ นำขบวนเสด็จ เมื่อเสด็จถึงมีการบรรเลงเพลงชาติไทย และเพลงชาติญี่ปุ่น หลังจากนั้น Eizan ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่ที่สุดที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรสยามในอดีจ เป็นผู้แทนมหาสมาคมกล่าวถวายการต้อนรับ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงมีพระดำรัสพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ความโดยย่อว่า “การพระราชทานพระไตรปิฎกสากล เป็นการเผยแผ่คลังอารยธรรมทางปัญญา เพื่อสันติสุขของมนุษยชาติ ซึ่งสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฯ ได้พระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕” จากนั้นพระราชทานพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ (คัมภีร์พระธัมมสังคณี คือ คัมภีร์ที่สรุปหมวดพระธัมม์ทั้งหมดในพระไตรปิฎก) แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้อำนวยการสถาบันทั้งหลายที่ได้ขอพระราชทานมา
ในการนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานจัดงาน เป็นผู้อัญเชิญพระไตรปิฎกสากลทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เพื่อพระราชทานแก่สถาบันต่างๆ พิธีนี้จัดขึ้นในวิหารศักดิ์สิทธิ์เบื้องหน้าแท่นบูชาที่สืบทอดวัฒนธรรมพุทธศาสนาญี่ปุ่นมานับพันปี
ชิเตนโนจิเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาแก่าแก่ของชาติญี่ปุ่น และเป็นต้นกำเนิดของดนตรีและการฟ้อนรำในราชสำนักโบราณที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งในพิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากลครั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นได้จัดนักดนตรีชิเตนโนจิบรรเลงเพลงในราชสำนักเป็นพิเศษด้วย พุทธสถานชิเตนโนจิ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโอซาก้า เมืองศูนย์กลางธุรกิจของญี่ปุ่น
พิธีพระราชทานพระไตรปิฎกสากล ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนชาวญี่ปุ่น โดยจัดในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีการจัดงานมาก่อน ทั้งนี้เพื่อร่วมกับประชาชนชาวไทยจัดงานพระราชทานพระไตรปิฎกสากล อันเป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาสูงสุดของมนุษยชาติ
งานพระราชทานพระไตรปิฎกสากล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินการโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์