คำกล่าวของ Dr. Olle Qvarnström
ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ศาสนาและศาสตราภิชานแห่งภารตศาสนวิทยา
มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ ประเทศสวีเดน
ผู้รับเชิญกิตติมศักดิ์
นิทรรศการเทคโนโลยีพระไตรปิฎก ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีภาพ
จัดโดย
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ในพระอุปถัมภ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยลุนด์ ราชอาณาจักรสวีเดน
ข้าพเจ้าชื่อ Olle Qvarnström เป็นศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ศาสนา ณ มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ (University of Lund)
มหาวิทยาลัยลุนด์ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศสวีเดน – อันเป็นสถานที่เชื่อมทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และทางด้านวิชาการกับศูนย์กลางการเรียนรู้ของทวีปยุโรปตอนใต้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ จะได้ก่อกำเนิดอย่างเป็นทางการในศตวรรษที่ 17 แต่มีประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปถึงสมัยประวัติศาสตร์ยุคกลาง
มีนักศึกษา 35,000 คน เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ในคณะต่างๆ รวมทั้งคณะมานุษยวิทยาและเทววิทยา; สถาบันเทววิทยาและประวัติศาสตร์ศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของคณะดังกล่าวซึ่งรวม ทั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศาสนาและตำแหน่งศาสตราภิชานแห่งภารตศาสนาวิทยา (Chair of Indic Religions) ด้วย
หอสมุดมหาวิทยาลัยลุนด์
แม้ว่าการศึกษาอย่างเป็นทางการทางภารตวิทยา ศาสนา และภาษาต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า เกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 19, แต่หอสมุดของเรามีคลังหนังสือทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ทั้งๆ ที่ประเทศสวีเดนไม่เคยเป็นประเทศทรงอำนาจในการล่าเมืองขึ้นหรือศาสนทูตในทวีปเอเชีย
ดังนั้น ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 20 ประเทศสวีเดนจึงได้รับผลจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจากการรายงานของนักบวชเจสุอิต นักท่องเที่ยว ฯลฯ และต่อมาผ่านการศึกษาทางตำราด้านวิชาการต่างๆ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง ประชากรชาวสวีเดนได้มีโอกาสรับวิธีปฏิบัติ ตามแนวประเพณีพระพุทธศาสนาจากผู้อพยพซึ่งได้เดินทางมาจากดินแดนพระพุทธศาสนาจากประเทศต่างๆ
พระไตรปิฎกบาฬีในพระพุทธศาสนาเถรวาท
การปฏิบัติสมาธิวิธีต่างๆทางพระพุทธศาสนาได้มีการปฏิบัติโดยชาวท้องถิ่นสวีเดน รวมทั้งชาวยุโรปและชาวอเมริกาเหนือด้วย
การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นวิถีทางที่จะได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์แห่งเอเชียทั้งอดีตและปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจในอารยธรรมร่วมสมัยของตะวันตก
ด้วยความตระหนักถึงการศึกษาพระพุทธศาสนา ที่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์จึงมีพันธกิจต่อการ ศึกษาแนวความคิดต่างๆ ทางด้านเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันของเราได้ก่อตั้งตำแหน่งศาสตราภิชานแห่งภารตศาสนาวิทยาขึ้น เพื่อศึกษาอารยธรรมอินเดียโบราณ รวมทั้งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางวิชาการแห่งเดียวในสแกนดิเนเวีย และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งศาสตราภิชานแห่งภารตศาสนวิทยานี้
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่วิชาพุทธศาสตรศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ ได้เน้นในด้านลัทธิมหายานต่างๆ ได้แก่ ลัทธิเซน ซึ่งมีอิทธิพลแก่วัฒนธรรมของประชาชนตะวันตก และวิชาการต่างๆ เช่น จิตวิทยา และจิตวิทยาบำบัด พุทธศาสนานิกายธิเบตเป็นลัทธิมหายานซึ่งดึงดูดความสนใจมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมของศาสนทูตและผู้อพยพ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศทิเบต
เพื่อปรับความสมดุลในด้านนี้ การศึกษาในด้านภารตวิทยาจึงมีพันธกิจ ที่จะนำเสนอของการศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทและบาฬี อันเป็นการเสริมสร้างมรดกอารยธรรมของปรมาจารย์ในอดีต
พระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช รศ. 112
ภาษาบาฬี อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม ณ มหาวิทยาลัยลุนด์
บัดนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะประกาศว่าความพยายามที่จะนำเสนอการศึกษา พระบาฬี (Pāḷi) และพระไตรปิฎกศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ อาจจะประสบความสำเร็จอย่างจริงจังในเร็วๆนี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เราได้รับเกียรติต้อนรับ นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์แห่งประเทศไทย พร้อมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเปราเดนิยะจากประเทศศรีลังกา
จุดประสงค์ของการเยือนมีสองประการ คือ ประการแรก ทั้งสองท่านต้องการรู้ว่าพระไตรปิฎกบาฬี ฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม ซึ่งพิมพ์ใน ค.ศ. 1893 ยังเก็บรักษามีสภาพดีหรือไม่ ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยของเรา, ประการที่สอง ทั้งสองท่านมาเพื่อประกาศข่าวการจัดพิมพ์ตามรอยพระไตรปิฎกอักษรสยาม ซึ่งเป็นการพิมพ์พระไตรปิฎกบาฬี อักษรโรมัน เป็นครั้งแรก โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ท่ามกลางความมืดมนและเปลี่ยวเปล่าในฤดูหนาวของประเทศสวีเดน อาจารย์และนักศึกษาได้รับข่าวที่อบอุ่นของมรดกอันล้ำค่าที่ได้มีการเก็บรักษาอยู่อย่างดีนับเป็นเวลากว่าศตวรรษ ณ หอสมุดของมหาวิทยาลัยนี่เอง
ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งสืบเนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมพระเจ้าออสก้าที่สองแห่งสวีเดน เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง
หนึ่งศตวรรษได้ผ่านไปภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอย่างสถาพรในสังคมสวีเดน
พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน พ.ศ. 2548
การประชุมสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500
ณ มหาปาสาณคูหา นครย่างกุ้ง
พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500 พิมพ์อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ซึ่งจัดพิมพ์โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ เป็นผลแห่งความวิริยะอุตสาหะของพระสงฆ์ผู้ทรงพระบาฬีจากประเทศเถรวาท ในเอเชีย ได้แก่ ศรีลังกา ไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ต้นฉบับดังกล่าวได้มีการถอดเป็นอักษรโรมันโดยผู้เชี่ยวชาญ
เพื่ออนุรักษ์พระไตรปิฎกบาฬีสำหรับการค้นคว้าและศึกษา กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย โดยความร่วมมือของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้เลือกที่จะเน้นคุณค่าของระบบมุขปาฐะของเสียงของภาษาบาฬี การจัดพิมพ์ครั้งนี้จึงได้นำวิธีการใช้เครื่องหมายพิเศษ (diacritics) ซึ่งช่วยในการอ่านสังวัธยายและออกเสียงภาษาบาฬี
พระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิง พ.ศ.2549 ภาษาบาฬี อักษรโรมัน ชุด 20 เล่ม
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาฬี ชุด 40 เล่ม เป็นอักษรโรมัน และหนังสือพระไตรปิฎกศึกษาอ้างอิงอีก 20 เล่ม ซึ่งรวม เชิงอรรถคำต่าง ดัชนี และการอ้างอิงต่างๆ – จึงเป็นผลสำเร็จทางด้านวิชาการที่ยิ่งใหญ่
ในนามของมหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณต่อกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมถ์ฯ สำหรับผลงานอันทรงคุณประโยชน์อันหาค่ามิได้ที่มีต่อวัฒนธรรมและศาสนาของโลก
ข้าพเจ้าได้รับทราบว่า มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์จะมีโอกาสได้รับพระอนุญาตในการขอพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน โดยตรงจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สำหรับโอกาสพิเศษที่ยิ่งใหญ่นี้ พวกเราทั้งหลายรู้สึกปีติและขอขอบพระคุณยิ่ง และขอกล่าวว่า หากการขอพระราชทานพระไตรปิฎกดังกล่าวประสบความสำเร็จแล้ว เราทั้งหลายมีความตั้งใจที่จะดำเนินการต่อไป มิใช่ให้การพระราชทานดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อเก็บรักษาพระคัมภีร์ฉบับนี้ไว้ในหอสมุดเท่านั้น เรามีความประสงค์ที่จะส่งเสริมการศึกษาพระไตรปิฎกบาฬีต่อไปในวงวิชาการในระดับโลก
ในปี พ.ศ. 2548 พระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน
ตามรอยพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม
การพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ชุดพิมพ์ใหม่ฉบับนี้แก่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ จักเป็นนิมิตหมายมากกว่าเพียงการมอบของขวัญแก่มหาวิทยาลัย แต่ยิ่งไปกว่านั้น การพระราชทานพระไตรปิฎกครั้งนี้เป็นนิมิตหมายของการมอบสมบัติอันล้ำค่าโดยประชาชนชาวไทยแก่ประชาชนชาวสวีเดน
เหตุดังกล่าว ได้ก่อกำเนิดมาช้านานแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเราได้รับรู้แล้วทั้งในยามสุขและทุกข์
ไม่นานมานี้ ภัยพิบัติจากสึนามิ ได้นำชาติเราทั้งสองให้แน่นแฟ้นกันในโศกนาฏกรรมที่ใหญ่หลวง แม้พระเจ้าแผ่นดินแห่งสวีเดน ก็ได้ทรงเน้นตลอดมาถึงความรู้สึกขอบคุณต่อความเมตตาอย่างใหญ่หลวงของประชาชนชาวไทยที่มีต่อผู้ประสบภัยชาวสวีเดน
การพระราชทานพระไตรปิฎกบาฬีแก่มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ดังกล่าวจึงมีมิติที่สำคัญหลายประการ อาทิ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ของการร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรของทั้งสองประเทศ
พระไตรปิฎกบาฬี ชุดพิเศษปฐมฤกษ์ 3 ชุด
ประดิษฐาน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ประเทศศรีลังกา
ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และมหาวิทยาลัยอุปซาลา นครอุปซาลา ราชอาณาจักรสวีเดน
ในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) พระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับปฐมฤกษ์ชุดพิเศษ พ.ศ. 2548 ได้มีการพระราชทานแล้วจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อประดิษฐาน ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งประเทศศรีลังกา, ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, และ ณ หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซาลา คาโรลีนา เรดิวีว่า ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 พระไตรปิฎกสากลอักษรโรมัน ฉบับมาตรฐาน ได้พระราชทานประดิษฐาน ณ รัฐสภาแห่งประเทศศรีลังกา และย่อมเป็นความปรารถนาที่จะได้รับเกียรติในการรับพระราชทานพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันฉบับนี้และประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งลุนด์ ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญทางการศึกษาที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป และมีการพระราชทานต่อไปแก่สถาบันต่างๆ นานาประเทศทั่วโลก
ขอขอบคุณ.