งานแถลงข่าว
และ
งานเลี้ยงรับรองต้อนรับผู้แทน 10 สถาบัน
ที่จะรับมอบพระไตรปิฎกสากลเป็นพระธัมมทาน
วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา 18.30 น.
โรงแรมปาร์คนายเลิศ แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร
"ประโยชน์" และ "กุศล"
จากการอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดย ประสิทธิ์ เสกสรรค์
เลขาธิการกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ
“ปาฬิ” เป็นภาษาพระธัมม์ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สั่งสอนพุทธบริษัท ซึ่งต่อมาได้มีการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า “พระไตรปิฎกปาฬิ” มีการอนุรักษ์ท่องจำปากต่อปากเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 400 ปี จึงได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในศรีลังกา และต่อมาได้บันทึกเป็นอักษรของชาติต่างๆ ทั่วโลก การมีต้นฉบับพระไตรปิฎกปาฬินี้ทำให้การแปลเป็นภาษาต่างๆ มีมาตรฐานเป็นสากล ซึ่งชาวโลกสามารถใช้พระไตรปิฎกปาฬิชุดนี้เป็นหลักได้ ที่สำคัญคือพระไตรปิฎกสากลฉบับนี้ได้จัดพิมพ์ชุดสมบูรณ์เป็น “อักษรโรมัน” ซึ่งเป็นอักษรสากลที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทำให้สามารถอ่านสังวัธยายได้ทั่วโลก คำว่าสังวัธยาย (สัง-วัธ-ธะ-ยาย) แปลว่าเปล่งเสียงพร้อมกัน
พิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล ในวันที่ 14 พฤศจิกายนศกนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมพิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล อันเป็นกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่สำคัญและเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ล้ำเลิศในทางพระพุทธศาสนา น้อมถวายแด่องค์อุปถัมภ์พระไตรปิฎกสากล โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในงานได้
งานพระศพเป็นงานบำเพ็ญกุศลสำคัญ ตามประเพณีพุทธศาสนาการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกเป็นบุญกิริยาอันประเสริฐ เพราะพระไตรปิฎกคือองค์พระบรมศาสดา ดังนั้นการอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สืบทอดมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงกว่า 2,500 ปี จึงเป็นบุญกิริยาที่ล้ำเลิศ เพราะเป็นการรักษาพระธัมม์อันบริสุทธิ์ให้ยืนนาน
การอ่านออกเสียงพระไตรปิฎกภาษาปาฬิ หรือ ภาษาพระธัมม์ และภาคแปลภาษาไทยจากพระไตรปิฎกสากล ฉบับที่สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงอุปถัมภ์การพิมพ์และเผยแผ่จึงเป็นการมีส่วนร่วมบำเพ็ญกุศลโดยตรงถวายแด่สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล (World Tipiṭaka Recitation) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นมีการอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ภาษาปาฬิ และภาคแปลภาษาไทย รวม 12 บท โดยแสดงการอ่านพิเศษเป็นตัวอย่าง 4 บท สำหรับบทอื่นๆ อีก 8 บท สามารถศึกษาเพื่อใช้อ่านสังวัธยายเพิ่มเติมโดยผ่านสื่อเทคโนโลยี 5 ชนิด คือ
1.1 สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ คู่มืออ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดพิมพ์พุทธพจน์ ทั้ง 12 บท เป็นหนังสือจำนวน 1 ล้านเล่ม สำหรับมอบเป็นธัมมทานแก่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มืออ่านสังวัธยายถวายเป็นพระราชกุศล
1.2 สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ได้แก่ การถ่ายทอดภาพและเสียงพิธีอ่านสังวัธยาย โดยเฉพาะบทตัวอย่าง 4 บท ซึ่งในสื่อโทรทัศน์จะปรากฏอักษรประกอบการออกเสียงด้วยสำหรับสื่อวิทยุจะถ่ายทอดเสียงอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎฏซึ่งประชาชนสามารถออกเสียงตามได้ และถ้ามีคู่มือก็สามารถอ่านตามได้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดทั่วประเทศ
1.3 สื่ออินเตอร์เน็ท ได้แก่ การเผยแผ่ข้อมูลดิจิทัล ทั้งภาพและเสียงทางเว็บไซต์หลักของ กทม. www.bangkok.go.th กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ www.dhammasociety.org
1.4 สื่อโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ การเผยแผ่เสียงสังวัธยายเพื่อฝึกซ้อมสำหรับแต่ละบุคคลทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถ download จากเว็บไซด์หลักของการจัดงานสังวัธยาย www.bangkok.go.th และ www.dhammasociety.org
1.5 สื่ออิเล็กทรอนิกส์ DVD ได้แก่ การเผยแผ่แผ่น DVD ต้นแบบเสียงสังวัธยาย ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมอบแก่กรุงเทพมหานครนำไปใช้ในพิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ณ ลานคนเมือง และทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยสามารถนำสื่อ
DVD นี้ไปเผยแพร่เป็นภาพและเสียงเป็นตัวอย่างในงานที่มีผู้ร่วมชุมนุม โดยมีผู้นำอ่านสังวัธยายเป็นตัวอย่าง ให้ประชาชนอ่านสังวัธยายตามได้
2. พระไตรปิฎกที่ใช้อ่านสังวัธยายเป็นภาษาปาฬิพิมพ์ด้วยอักษรโรมันจากต้นฉบับสากล
การใช้พระไตรปิฎกสากลเป็นต้นฉบับ ทำให้สามารอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกได้เหมือนกันหมดทั่วโลก เป็นการรักษามาตรฐานสากลของพระไตรปิฎกปาฬิ และเป็นการนำพระไตรปิฎกปาฬิมาใช้ในชีวิตเพื่อบำเพ็ญกุศลได้โดยตรง ความเป็นสากลนี้ทำให้มีผู้อุปถัมภ์พระปิฎกสากลจากประเทศต่างๆ มาร่วมพิธีอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากล ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย
3. ประชาชนสามารถอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกได้อย่างถูกต้อง
การอ่านสังวัธยายเป็นการอ่านออกเสียงพระไตรปิฎกเป็นภาษาปาฬิ และภาคแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งในงานจะมีผู้อ่านนำทั้งภาษาปาฬิและภาคแปลภาษาไทยในแต่ละบรรทัด ให้ผู้ร่วมงานอ่านตามได้เป็นอย่างดี กรุงเทพมหานครได้จัดสังวัธยายพระไตรปิฎกมาแล้วโดยมีผู้ร่วมงาน 5,000 คน ซึ่งแม้ผู้ไม่เคยสังวัธยายมาก่อน เมื่อมีผู้อ่านนำและคู่มือการอ่านก็สามารถร่วมอ่านสังวัธยายพระไตรปิฎกสากลได้ การร่วมอ่านสังวัธยายเป็นหมู่คณะเป็นการแสดงความสามัคคีที่เป็นกุศลเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
4. ประชาชนสามารถนำการอ่านสังวัธยายไปใช้เป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญกุศลได้ในอนาคต
โดยนำพระพุทธพจน์ทั้ง 12 บทที่บันทึกอยู่ในสื่อต่างๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ และแผ่น DVD ที่บันทึกระหว่างพิธีอ่านสังวัธยาย ไปปฎิบัติในงานบำเพ็ญกุศลอื่นๆ ในอนาคตได้ เป็นการปฎิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาทในการสืบทอดพระธัมม์คำสอนตรงตามต้นฉบับพระไตรปิฎก ซึ่งได้มีการสืบทอดโดยการท่องจำ สวดทาน และอ่านสังวัธยายโดยพระอรหันตสาวก และอุบาสกและอุบาสิกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน