Saturday, November 21, 2009

พิธีสมโภช/ถวายพระไตรปิฎกสากลแด่สมเด็จพระสังฆราช กระทรวงกลาโหม


พลเอก อภิชาติ เพ็ญกิตติ
ปลัดกระทรวงกลาโหม

คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร
ประธานจัดงานฯ

และ

นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ
ผู้ดำเนินโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก

รองราชเลขานุการในพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ

และ ผู้แทนจากสถาบันทหาร 3 เหล่าทัพ

แถลงข่าวพิธีสมโภชและถวายพระไตรปิฎกสากล
แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 14.00 น.
ศาลาว่าการกลาโหม ถนนสนามไชย เขตพระนคร
ห้องสุรศักดิ์มนตรี ชั้น2 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม






ในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงเจริญพระชันษา 96 ปี มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาคฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดพิธีสมโภชพระไตรปิฎกสากลและถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จทรงเป็นประธาน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง


พระไตรปิฎกสากล อักษโรมัน ชุด 40 เล่ม ที่พิมพ์ขึ้นเป็นพิเศษในปี พ.ศ. 2552 นี้ เป็นการจัดพิมพ์ตามรอย พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อ 116 ปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ภาษาปาฬิ (เดิมเรียก บาลี) เป็นฉบับพิมพ์เป็นชุดเป็นครั้งแรก ปัจจุบันอาจดูว่าการพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในบริบทประวัติศาสตร์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงแห่งชาติ เพราะขณะนั้นประเทศในเอเซียส่วนใหญ่ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกส่วนที่เหลือ เช่น กรุงสยาม ก็กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรงของการล่าอาณานิคมจากตะวันตก

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระไตรปิฎก จปร. ชุดนี้ไปทั่วกรุงสยาม ในยุคที่ชาติมีวิกฤติทางการเมืองระหว่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการสร้างขวัญของความสมัครสมานร่วมใจกันในทางธัมมะ อันเป็นยุทธศาสตร์และจิตวิทยาอันชาญฉลาด ในการรักษาเอกราชสยามด้วยขันติธัมม์และปัญญา เพราะต่อมาข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับตะวันตกก็ยุติด้วยการเจรจา ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ซึ่งเป็นปีที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรสยามสำเร็จพอดี หลังจากที่ดำเนินจัดสร้างมานานกว่า 6 ปี

นอกจากนี้การพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. ปัจจุบันยังถือเป็นการพิมพ์ที่เป็นเลิศ และเป็นชุดหนังสือครั้งแรกของโลก การพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาปาฬิด้วยอักษรสยามแทนอักษรขอมโบราณ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา

พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ยังแสดงภูมิปัญญาไทยในการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ของตะวันตก มาพิมพ์คลังอารยธรรมทางปัญญาของมนุษยชาติ อันเป็นคำทรงสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการเปลี่ยนการบันทึกคำสอนในใบลานกว่า 50,000 แผ่น มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือถึง 15,000 หน้ากระดาษ รวม 39 เล่ม เป็นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในรอบ 2 พันปี และที่สำคัญยังได้จัดส่งพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับนี้ไปยัง 260 สถาบันในนานาชาติไม่น้อยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ปัจจัยการสร้างเครือข่ายในนานาประเทศนี้ มีส่วนสำคัญให้นานาชาติช่วยเหลือสยาม ให้พ้นการกดดันของมหาอำนาจบางประเทศในอดีต และในปัจจุบันพระไตรปิฎก จปร. ของชาวไทยก็ยังเก็บรักษาใว้เป็นสมบัติล้ำค่า ในสถาบันภูมิปัญญาทั่วโลก

กระทรวงกลาโหม ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นเกียรติสูงส่งที่ในอดีตได้มีส่วนในการสร้างพระไตรปิฎก จปร. ชุดประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นรากฐานของการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหม จึงถือเป็นภารกิจหลักที่จะเข้าร่วมในการสมโภชพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ 40 เล่ม ที่ได้จัดพิมพ์ใหม่ในประเทศไทย เพื่อน้อมถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางปัญญาและสถาบันแห่งชาติ และเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐด้วย







คำแถลงข่าว
การสมโภชและถวายพระไตรปิฎกสากลแด่สมเด็จพระสังฆราช
โดย
พลเอก อภิชาติ เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม


เมื่อ 116 ปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นชุดหนังสือ ฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก ปัจจุบันเรียกว่า พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.. 2436

การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม เป็นการแสดงภูมิปัญญาไทยในการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ของตะวันตก มาจัดพิมพ์คลังอารยธรรมทางปัญญาของมนุษยชาติ อันเป็นคำทรงสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การพิมพ์ครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการบันทึกในใบลานกว่า 50,000 แผ่น มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือถึง 15,000 หน้ากระดาษ รวม 39 เล่ม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในรอบ 2 พันปี และที่สำคัญยังได้พระราชทานพระไตรปิฎกนี้ไปยัง 260 สถาบันสำคัญ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก การสร้างเครือข่ายในนานาประเทศดังกล่าว มีส่วนสำคัญให้นานาชาติ ช่วยเหลือสยามประเทศให้พ้นการกดดันของมหาอำนาจในอดีต และปัจจุบันพระไตรปิฎก จปร. ของชาวไทย ยังคงเก็บรักษาใว้เป็นสมบัติล้ำค่าในสถาบันภูมิปัญญาทั่วโลก ดังข้อมูลในหนังสือ “ธัมมบท 100 บท จากพระไตรปิฎก” ซึ่งจะมอบเป็นธัมมทานแก่สื่อมวลชนในวันนี้

กระทรวงกลาโหม ในฐานะที่เป็นสถาบันแห่งชาติ ที่เป็นหลักในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งในอดีต ที่ได้สร้างพระไตรปิฎก จปร. ชุดประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นรากฐานของการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหม จึงถือเป็นภารกิจหลักที่จะเข้าร่วมในการสมโภชพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุดสมบูรณ์ที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในประเทศไทย เพื่อถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชในปีนี้ ซึ่งเป็นภารกิจทางปัญญาของสถาบันทหารไทย และเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐด้วย




คำแถลงข่าว
การสมโภชและถวายพระไตรปิฎกสากลแด่สมเด็จพระสังฆราช
โดย
คุุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานจัดงานสมโภชและถวายพระไตรปิฎก




ในนามของโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ดิฉันรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ที่กระทรวงกลาโหมให้เกียรติโครงการ โดยเข้าร่วมการจัดพิธีสมโภชและถวายพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมันแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จทรงเป็นประธาน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ได้ทรงอุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกตั้งแต่ปี พ.. 2542 ต้องใช้เวลาดำเนินงานมาถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปี บัดนี้ ได้มีการพระราชทานพระไตรปิฎกเป็นพระธัมมทานจากประเทศไทยไปแล้ว กว่า 38 สถาบัน ใน 18 ประเทศทั่วโลก การน้อมถวายพระไตรปิฎกสากล ในวาระที่ทรงเจริญพระชันษา 96 ปี แด่สมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงมีความบริสุทธิ์ในการรักษาพระธัมมวินัย และเคร่งครัดในศีลาจริยวัตร จึงเป็นการบำเพ็ญกุศลธัมมทานอันเลิศ และเป็นการสืบทอดพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสถาบันพระพุทธศาสนา

ในฐานะที่มูลนิธิเป็นองค์กรในพระบรมราชินูปถัมภ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายบุญกิริยาในการจัดงานสมโภชและถวายพระไตรปิฎก สากลเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ